9 จุดสำคัญใช้ตรวจรับมอบบ้านก่อนเซ็นโอน เช็กยังไงไม่ให้ถูกหลอก

ทุกคนคิดว่า “การตรวจรับมอบบ้านด้วยตัวเอง” ยากไหม คำตอบคือไม่ยากเลย สิ่งที่เราต้องทำในการตรวจรับมอบบ้านด้วยตัวเองนั้น เราจะต้องมีความเข้าใจ รู้ขั้นตอนในการตรวจ และมีความละเอียดรอบครอบมากๆ ถ้าตรวจรับแบบผิวเผิน ผลลัพธ์ที่ตามมาแทบจะเรียกได้ว่า

“เลิกคุยทั้งอำเภอ เพื่อมาซ่อมบ้านตัวเอง” ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมภายหลังสูงมาก แถมเสียเวลาในการทำงาน ทำให้กำหนดเข้าบ้านช้าขึ้น

พวกเรา Beaverman  ได้เตรียมแนวปฏิบัติ การเตรียมตัว และขั้นตอนต่างๆ แบบรวบรัดเข้าใจง่าย ให้ทุกคนได้นำไปใช้งานในการตรวจรับบ้านด้วยตัวเองได้อย่างสบายใจ ไปอ่านกันได้เลยครับ


การเตรียมพร้อมก่อน "ตรวจรับ มอบบ้าน"

1.วันที่นัดตรวจรับบ้าน เราต้องว่างทั้งวัน ไม่มีธุระที่ไหน เพราะเวลาในการตรวจบ้านให้ละเอียดใช้เวลานานแน่นอน ส่วนการนัดเซลล์ หรือทีมงานอื่นๆ ถ้ารู้ว่าเป็นคนขี้เกรงใจ ให้นัดทีมงานที่จะเดินร่วม ในการตรวจบ้าน ทิ้งระยะห่างให้เราตรวจบ้านให้เสร็จก่อน เพื่อที่จะได้ตรวจและนำเสนอข้อมูลภายในวันนั้นได้เลย

2.จะมาตรวจบ้านทั้งที เราต้องให้ทางโครงการ ต่อน้ำ ต่อไฟ ให้เราด้วย เพื่อที่จะได้เช็กทุกอย่างให้ละเอียด (ถ้าไม่ต่อน้ำต่อไฟให้ละก็ ฉันก็จะไม่เข้าไปตรวจบ้าน T T ) แต่ส่วนใหญ่ทางโครงการจะต่อให้ครับ

3.บันไดพับถ้าเราไม่มี ก็ขอกับทางโครงการไว้ ให้ช่วยเตรียมไว้ให้ ที่สำคัญจะต้องดูความสูงด้วยนะ ว่าเข้าบ้านได้ไหม แต่ถ้าเผื่อจะตรวจใต้หลังคาบ้านด้วยก็ต้องใช้บันไดยาว

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมไปตรวจรับบ้าน 12 ชนิด

1.สมุดจดข้อมูล, ดินสอ, ยางลบ ต้องพร้อมใช้สำหรับจดบันทึก เพื่อระบุตำแหน่ง

2.ผังแบบแปลนบ้าน อาจจะขอจากโครงการ เพื่อใช้ดูข้อมูลร่วมในการตรวจสอบ

3.อุปกรณ์ทำเครื่องหมาย อาจจะเป็นสติ๊กเกอร์สี หรืออะไรก็ตามที่จะไม่ทำให้ ผนังบ้านลอก แต่ถ้าเขาไม่ให้ติดเลยก็ต้องจดให้ละเอียดและถ่ายรูปไว้ให้ดี

4.อุปกรณ์ไว้ตัดเทปพันสายไฟ หรือใช้แกะพลาสติกหุ้มของต่างๆ

5.ถังน้ำใช้รองน้ำ สำหรับทดสอบการลาดเอียง การระบายน้ำ

6.เศษผ้า ใช้อุดท่อขังน้ำ เพื่อตรวจสอบการระบายน้ำ

7.ไม้ตรงๆยาวๆ ใช้ เพื่อเช็กระนาบความเรียบ

8.ลูกแก้ว ไว้ทดสอบความลาดเอียงของพื้น

9.ขนมปัง ใช้ใส่ชักโครกแทนสิ่งปฎิกูล เพื่อทดสอบระบบการไหลของชักโครก

10.โทรศัพท์บ้าน ใช้ตรวจสอบการใช้งานภายในบ้าน

11.ไขควงวัดไฟ สำหรับใช้ตรวจสอบไฟฟ้าในระบบ (สำหรับผู้ชำนาญแล้วเท่านั้น)

12.มือถือหรือโน๊ตบุ๊ค ใช้ตรวจสอบระบบอินเตอร์เน็ต Wi-Fi หรือถ้าใช้ระบบ LAN ต้องนำสาย LAN มาเผื่อด้วย

ขั้นตอนการตรวจบ้าน 9 จุดสำคัญ

1.นอกบ้าน ไล่ตรวจตั้งแต่รั้วบ้าน, ตู้ไปรษณีย์, ดินถม, ทางเดินนอกบ้าน และการระบายน้ำ ถ้ารั้วบ้านเป็นกำแพงก็มองบนๆไว้หน่อย เพื่อดูว่ามีรอยบิ่นรอยร้าวของกำแพงบ้านไหมหลังจากนั้นก็เริ่มดูการตกแต่ง สวนหน้าบ้าน, ต้นไม้มีการแกะถุงพลาสติกออกหรือยัง, ดินแน่นไหม, โรงจอดรถเป็นอย่างไร, ถังเก็บน้ำใต้ดินฝาล็อกได้หรือป่าว และสุดท้ายก็ดูระบบระบายน้ำจากในบ้านไปยังนอกบ้านได้ดีหรือไม่

2.งานโครงสร้าง จริงๆ จะต้องเข้ามาดูตั้งแต่ตอนสร้าง เพื่อให้เห็นโครงสร้างก่อนเทปูน แต่ถ้าเป็นบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย ให้สังเกตตรวจสอบความแข็งแรงของโครงบ้าน ต้องไม่มีรอยร้าวประเภทที่เป็นอันตรายต่อบ้าน ผนังไม่ล้มเอียง หรือ คานบ้านโค้งงอ และสิ่งที่เช็กเหนื่อยที่สุดก็คือ เรื่องการตรวจสอบการปูวัสดุพื้น การตรวจเช็กอย่างละเอียดที่สุดคือ เคาะทุกกระเบื้อง เพื่อเช็คว่าปูนใต้วัสดุปูพื้นต้องแน่น ไม่เป็นโพรง ลายวัสดุพื้นจะต้องเรียงถูกต้อง

3.งานผนัง เป็นอะไรที่สังเกตเห็นได้ง่ายมาก ถ้าปล่อยผ่านไปละก็ สิ่งที่ตามมาคือ รอยแตกร้าวหรือการเก็บงานไม่ละเอียด ที่สร้างความหงุดหงิด และสิ่งที่ทุกคนมองข้ามแต่ส่วนใหญ่จะมีคือ รอยร้าวหรือการเก็บงานที่ไม่ละเอียด ตรงผนังส่วนนอกบ้านต้องยืนสังเกตความละเอียดของงานให้ดี

4.งานประตูหน้าต่าง อะไรที่เปิดได้ อะไรที่มีประตู เปิดให้สุด เลื่อนให้สุดทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ประตูตู้ในห้องน้ำ หรือแม้แต่ที่ล็อคประตู อาจจะต้องขยับใช้แรงกันนิดหนึ่ง เพื่อดูความแข็งแรง (บางทีอาจจะเจอที่ซ้อนเงินก็เป็นไปได้ ^^)

5.งานบันได ควรจะลองเดินขึ้นๆลงๆหลายๆรอบ เพื่อเช็ควัสดุก่อสร้าง, การติดตั้งราวบันได, ตรวจสอบบันไดแต่ละขั้นว่ามีความเท่ากันไหม พื้นบันไดไม่ลื่น ราวบันไดจับได้ถนัดมือที่สำคัญควรตรวจจุดยึดเสาราวบันไดว่าแน่นไหม ที่เหลือก็จะเป็นการตรวจความเรียบร้อย การเก็บงานและความสะอาด

6.งานฝ้าเพดาน มีคำพูดที่ว่า “ตรวจบ้านช่วงหน้าฝนจะดีที่สุด” เพราะเราจะได้เห็นการใช้งานจริงเลยว่า ฝ้าเพดานจุดไหนรั่ว แต่ถ้าไม่มีฝนทำไงดี ก็คงจะต้องเช็กความเรียบร้อยรอยต่อฝ้าเพดาน จะต้องไม่เกยกัน แผ่นกระเบื้องซีเมนต์ที่ใส่ในช่องต้องมีขนาดเท่ากัน เมื่อวางเรียงแล้วต้องไม่มีช่องว่าง

7.งานหลังคา แนะนำถ้าไม่มีฝน ให้เล่นใหญ่ไว้ก่อน จ้างรถน้ำ มาทำฝนเทียมฉีดขึ้นไปบนหลังคา เพื่อตรวจสอบการรั่วซึม ปัญหานี้เป็นอะไรที่ปวดหัวที่สุดของคนมีบ้าน เมื่อฝนตกหนัก กว่าเราจะรู้ตัว น้ำก็รั่วซึม ทำให้ของใช้ในบ้านเสียหายได้ ลงทุนเล่นใหญ่ตั้งแต่ตอนตรวจรับบ้าน จะได้ไม่พบเจอปัญหาน้ำรั่วซึมแบบไม่ทันตั้งตัว

8.งานระบบไฟฟ้า เช็กระบบ เปิด ปิด ไฟทั่วบ้าน, เช็กความสว่างของหลอดไฟ ว่าสว่างปกติไหม, นำเครื่องใช้ไฟฟ้าง่ายๆ มาทดลองเสียบตามเต้าไฟต่างๆ เพื่อเช็กกระแสไฟ, ใช้ไขควงเช็กไฟตรวจทุกรู เพื่อดูว่ามีการต่อไฟไม่เหมาะสมหรือไม่ สุดท้ายเช็กดูเบรกเกอร์ ปิดแล้วไฟดับจริงไหม ถ้าติดมิเตอร์แล้ว ให้ลองปิดเบรกเกอร์ทั้งหมด เพื่อดูว่ามิเตอร์ยังหมุนอยู่ไหม ถ้าหมุนอยู่แปลว่ามีไฟรั่ว !!

9.งานสุขาภิบาล สิ่งสำคัญที่ต้องเช็กคือ “โถสุขภัณฑ์” ถ้าไม่เช็กให้รอบครอบ รับรองว่าเป็นปัญหากวนใจส่งกลิ่นเหม็นแก้งานกันยาวๆ ต้องตรวจดูว่าสุขภัณฑ์ในส่วนต่างๆวางได้ถูกตำแหน่งหรือไม่ ไม่มีน้ำรั่วจากขอบรอยต่อโถสุขภัณฑ์หรือท่อน้ำจุดต่างๆ จากนั้นทดสอบการไหลของสิ่งปฏิกูลด้วยขนมปังที่ฉีกเป็นขนาดที่แตกต่างใส่ไว้ในโถสุขภัณฑ์แต่ละห้องน้ำ และกดน้ำ เพื่อเช็กการไหล ให้มาดูที่ถังบำบัดว่า ขนมปังมาครบหมดทุกห้องหรือไม่  สำหรับคนที่อยากรู้ 4 วิธีตรวจสอบ น้ำประปารั่ว เช็กเองได้ ง่ายนิดเดียว เข้าไปอ่านได้ที่ beaverman.com/homeguru/view/BD1dlnkMr0mG/

การสรุปงานและส่งแก้ไขหลังจากเข้าไปตรวจบ้าน

หลังจากที่เราตรวจสอบ ถ่ายรูปและบันทึกจุดที่ต้องการให้โครงการซ่อมแซม ก่อนเซ็นต์รับโอน ควรจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อแจ้งให้โครงการทราบครับ โดยแนบข้อมูลทั้งหมดพร้อมรูปภาพส่งต่อให้ทางโครงการได้เลย  

ทุกคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงจะรู้สึกว่า เรามีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในการตรวจบ้าน แต่รู้หรือไม่ การตรวจบ้านด้วยตัวเอง ไม่สามารถที่จะตรวจได้ละเอียดทั้งหมดได้ เพราะยังมีหลายพื้นที่ ที่เราตรวจไม่ถึง เช่น เหนือฝ้าเพดาน, อะไรที่ซ้อนอยู่ใต้ปูน, การตอกเสาเข็ม สิ่งเหล่านี้กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เกิดปัญหา ทรุดแตกร้าวให้เห็นแล้ว

แต่ทุกปัญหามีทางออกเพียงให้ beaverman เข้ามาช่วยดู การสร้างบ้านตั้งแต่การลงเสา เทปูน ทำคาน หรือระบบต่างๆ จนไปถึงภายในบ้าน เมื่อพบปัญหาจะได้ทำการช่วยแก้ไขตั้งแต่แรก เพื่อให้ได้บ้านที่สมบูรณ์พร้อมอยู่อาศัย ไม่มีปัญหากวนใจเสียเงินซ่อมแซมบ้านใหม่ สนใจสอบถามบริการตรวจรับบ้านอย่างมืออาชีพ คลิกเลย